9/22/2559

เปิบข้าว

เคยมีหนังสือเล่มนี้สมัยเรียนม.ปลายแต่เพื่อนยืม แล้วหาย ซื้อหนังสือกวีความรักมาให้ แต่ก็ไม่เคยลืม

จนได้ฟังเพลง ทำให้นึกถึงหนังสือเล่มนั้น ชนชั้นกรรมาชีพยังไม่ได้หมดไปจากประเทศไทย
ใคร ที่ยัง โง่ จน เจ็บ ใครที่ร่ำรวยจากน้ำพักน้ำแรงของชาวนา ไม่ได้รู้จัก " จิตร ภูมิศักดิ์"เพราะเกิดหลังยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน แต่รู้จักการต่อสู้ของประชาชน

" เปิบข้าว "

เปิบข้าวทุกคราวคำ    จงสูจำเป็นอาจิณ
เหงื่อกูที่สูกิน    จึงก่อเกิดมาเป็นคน
ข้าวนี้น่ะมีรส    ให้ชนชิมทุกชั้นชน
เบื้องหลังซิทุกข์ทน    และขมขื่นจนเขียวคาว
จากแรงมาเป็นรวง    ระยะทางนั้นเหยียดยาว
จากรวงเป็นเม็ดพราว    ล้วนทุกข์ยากลำบากเข็ญ
เหงื่อหยดสักกี่หยาด    ทุกหยดหยาดล้วนยากเย็น
ปูดโปนกี่เส้นเอ็น    จึงแปรรวงมาเป็นกิน
น้ำเหงื่อที่เรื่อแดง    และน้ำแรงอันหลั่งริน
สายเลือดกูทั้งสิ้น    ที่สูซดกำซาบฟัน

(จิตร  ภูมิศักดิ์) 

          มี หลายคนเข้าใจผิด  ว่าการเปิบข้าวนี้เป็นลักษณะการกินข้าวแบบชาวอีสาน  แต่แท้ที่จริงแล้วการเปิบข้าวคือวัฒนธรรมการกินข้าวของคนไทยทุกภาคและที่ สำคัญคือจะเน้นใช้กับข้าวสวย หรือข้าวจ้าวซะมากกว่า  พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542  เปิบ, เปิบข้าว  ก. ใช้ปลายนิ้วขยุ้มข้าวใส่ปากตนเอง 
          นั่นหมายถึงการใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง รวมถึงนิ้วก้อยตะล่อมข้าวมาให้พอคำ แล้วยกป้อนเข้าปากจากนั้นใช้นิ้วหัวแม่มือช่วยดันเข้าปาก  แสดงว่าการเปิบข้าวนี้เน้นที่การกินหรือทานข้าวสวยมากกว่าข้าวเหนียว  ซึ่งภาคอีสานจะใช้คำว่า จก  ปั้น  จ้ำ  คุ้ย  กับการกินข้าวกับข้าวเหนียว 
          การเปิบข้าวไม่ใช่แค่เพียงวัฒนธรรมไทยเท่านั้น  แม้แต่ชาติอื่นในภูมิภาคอุษาคเนย์รวมทั้งชาติอาหรับหรือแอฟริกาก็มีวัฒนธรรม การกินข้าวแบบเปิบทั้งสิ้น  จึงถือเป็นการกินข้าวแบบปกติของชาวไทยทุกภูมิภาคในอดีตในยุคที่การใช้ช้อน ส้อมยังไม่แพร่หลาย 
          ในทศวรรษที่ 2490  ช่วงที่คุณจิตร  ภูมิศักดิ์ประพันธ์บทกวีบทนี้ก็เป็นช่วงที่การใช้ช้อนส้อมยังไม่เป็นที่แพร่ หลาย  คนส่วนใหญ่ไม่ว่าระดับไหนก็ล้วนทานข้าวแบบเปิบข้าวด้วยทั้งนั้น  สังเกตจากสำรับอาหารไทยจะมีขันน้ำใบขนาดกลาง ๆ ใส่น้ำไว้เพื่อให้คนที่ทานสำรับข้าวได้ชุบมือเพื่อกำจัดเศษอาหารที่ติดมือ อันทำให้ดูไม่งาม  หลายคนที่ตั้งข้อสังเกตว่าบทกวีนี้พูดถึงการกินข้าวแบบอีสานจึงไม่ถูกต้อง  บางคนถึงกับตั้งข้อวิพากษ์ว่า  ข้าวในผืนนาจากภาคอีสานในสมัยนั้นจะมาถึงคนกรุงได้อย่างไร  เพราะภาคอีสานล้วนแห้งแล้งกันดาร  การคมนาคมขนส่งก็แสนยากลำบาก  และเพราะเห็นว่าคนกรุงนั้นล้วนกินข้าวจากพื้นนาในภาคกลางทั้งสิ้น
          ซึ่งแท้ที่จริงแล้วคุณจิตร  น่าจะต้องการสื่อความหมายถึงชาวนาทั่วทุกภูมิภาคไม่จำกัดแต่เฉพาะเพียงภาค อีสาน  และไม่ได้เจาะจงว่าเป็นชนชั้นปกครองหรือคนเมืองในภูมิภาคไหน  นั่นเพราะทั่วถิ่นแดนไทยล้วนบริโภคข้าวเป็นอาหารหลักทั้งสิ้น  และยิ่งสมัยนั้นด้วยแล้วคนภาคกลางล้วนเปิบข้าวกันทุกจังหวัด  ถือเป็นการมีโลกทัศน์ที่กว้างของคุณจิตร  หรือหากจะมองด้านการขนส่งจำหน่ายข้าวแบบปัจจุบันแล้ว  ข้าวที่ขึ้นห้างให้เราได้กินนั้นเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่ามาจากภูมิภาคไหน  และข้าวในภูมิภาคอีสานของไทยก้ยังมีชื่อเสียงระดับโลก เช่น ข้าวหอมมะลิ  เป็นต้น  เพลงนี้จึงต้องการชี้นำบอกกล่าวหรือสั่งสอนให้คนทั้งประเทศ  และยังมีความทันสมัยอินเทรนด์ตลอดเวลาตราบเท่าที่ประเทศไทยยังมีการบริโภค ข้าวและทำอาชีพเกษตรกรรมอยู่
          บทประพันธ์นี้คุณจิตรได้ใช้ถ้อยคำที่ประชดประชันชนชั้นปกครอง  รวมถึงคนในชุมชนเมืองที่ถือว่าตนเองศิวิไลซ์และมักดูถูกชาวนาว่าด้อยค่า  ให้รู้ว่าข้าวทุกเม็ดที่เราเปิบหรือหม่ำๆๆ  ล้วนมาจากหยาดเหงื่อแห่งความทุกข์ยากของชาวนาทั้งสิ้น  เป็นการสะกิดเตือนให้รู้ซึ้งถึงการต่อสู้ของชาวนาผู้เป็นกระดูกสันหลังของ ชาติ  หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินเอาแรงกายใจต่อสู้กับธรรมชาติรวมถึงอำนาจการขูดรีดกด ขี่ของเหล่าพ่อค้าคนกลาง  เพื่อให้ได้เมล็ดข้าวสีขาวให้เราได้บริโภคจนอิ่มหนำเติบโต  หรือจะให้ทันสมัยหน่อยก็เอาไปบดหมักทำเป็นแป้งพิซซ่าราดซอสมะเขือเทศให้คุณ หนู ๆ ขาได้กินอร่อยลิ้น  แม้จะไม่ได้ผลกำไรอย่างเช่นคนที่คาดหวังกับ demand  &  supply  เหมือนคนเมืองทั้งหลาย  แต่ก็ยังต้องสู้ทนประทังชีวิตไปวัน ๆ เพราะไม่ทำแล้วก็ต้องอดตาย 
          ยิ่ง เดี๋ยวนี้น้ำท่วมทุ่งนาทุกปี  พืชผลทางการเกษตรก็เสียหายหนำซ้ำยังไร้คนเหลียวแลอย่างจริงจังและจริงใจไม่ ไก่กาด้วยแล้วยิ่งมีแต่หมดหวังและตังค์หมด  หรือเพราะความทุกข์ยากอย่างนี้เองชาวนาหลายคนจึงหันมาทำอาชีพอื่นกัน หมด  ลูกหลานชาวนาพอจบชั้นม.6  โรงเรียนบ้านหนองใหญ่ก็พากันเข้าเมืองมาเป็นดาวเดือนมหาลัย  ที่นาที่มีอยู่ก็ขายทำเป็นคอนโด  แล้วอย่างนี้อีกหน่อยใครจะมาปลูกข้าวให้เรากิน  แต่ไม่แน่ดาวเดือนมหาลัยผู้เป็นลูกชาวนาอาจจบสถาปัตย์มาดีไซน์คอนโดให้คน ปลูกข้าวบนพื้นปูนได้ใครจะไปรู้  ถึงเวลานั้นขึ้นมาจริง ๆ อาจต้องกัดกินผนังตึกแทนข้าวก็เป็นได้ (เพ้อ...ซะงั้น) 
          จากวรรคที่ว่า  "น้ำเหงื่อที่เรื่อแดง  และน้ำแรงอันหลั่งริน  สาย เลือดกูทั้งสิ้น  ที่สูซดกำซาบฟัน" เป็นการแสดงออกถึงศักดิ์ศรีของชนชั้นกรรมาชีพ  เพื่อเตือนให้ชาวเมืองรู้ว่าทุกเม็ดข้าวที่เข้าปากล้วนเกิดจากน้ำเหงือและ สายเลือดของชาวนาทั้งสิ้น  ลึกกว่านั้นคุณจิตร  คงไม่ต้องการให้ชาวนากรรมาชนถูกกดขี่ข่มเหงหรือถูกใช้เป็นเครื่องมือนั่น เอง  
ลูกเขยชาวนา....24 กพ 57...                                               

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น