9/22/2559

ภูเพ็ก...ภูพานและบ้านของพ่อ (ตำหนักภูพานราชนิเวศ)

.... คำว่า “เพ็ก”  หมายถึง ดาวประกายพรึก  (ผกาย  เป็นภาษาเขมรแปลว่า ดาว  ,พรึก  แปลว่าสว่าง สุกหรือสี/แสงเข้ม..เพ็ก คือ พรึก นั่นเองแต่เกิดการเปลี่ยนแปลงเสียงเท่านั้นเอง ) ภูเพ็ก คือภูหนึ่งในหมู่เทือกเขาภูพาน  ซึ่งถูกตั้งชื่อตามตำนานแห่งดาวเพ็ก 
....ภูเพ็กเป็น ภูเขาอีกลูกหนึ่งในเทือกเขาภูพานที่มีความน่าสนใจมาก  ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติ ที่งดงาม  และคุณค่าทางประวัติศาสตร์  เกี่ยวกับอารยธรรมขอมบนแดนดินอีสาน เหนือ  ที่มีความสำคัญควรแก่การศึกษายิ่ง
ภูเขาลูกนี้สูง จากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 544 เมตร น้อยกว่าจุดที่สูงที่สุดของเทือกเขาภูพานเพียง 23 เมตร ก็นับว่ามีความสูงพอสมควร(ถ้าเทียบกับบรรดาภูเขาแถบนี้)  บนยอดเขาภู เพ็กนี้เป็นที่ตั้งของพระธาตุภูเพ็ก  ซึ่งเป็นพระธาตุสมัยขอมยังเรืองอำนาจ ปกครองพื้นที่แถบนี้อยู่
พระธาตุภูเพ็กเป็นโบราณสถานที่คนท้องถิ่นเรียกว่าปราสาทขอม  สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษ         ที่ 16  สร้างด้วยหินทรายตั้งอยู่บนฐานศิลาแลง  มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม    ด้าน หน้าเชื่อมต่อกับมณฑปรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ชั้นที่ 1 สูง1.58 เมตรชั้น ที่ 2 สูงประมาณ 0.70 เมตรตัวปราสาทสูง 7.67 เมตรซึ่งยังสร้างไม่แล้วเสร็จ ไม่มีหลังคาและ ยอดปราสาท เพียงแต่ทำขื่อตั้งไว้เท่านั้น  มีบันไดก่อปูนขึ้นบนยอดเขา ประมาณ499 ขั้น 
แต่สิ่งที่มหัศจรรย์ไปกว่านั้นคือ สถาน ที่ตั้งปราสาทภูเพ็ก ในจังหวัดสกลนคร กับปราสาทหิน      พิมาย ของจังหวัดนครราชสีมา และปราสาทนครธม ในเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา มีที่ตั้ง ในพิกัดแผนที่ซึ่งเมื่อลากเส้นแล้วจะทำมุมเป็นรูปสามเหลี่ยมสวยงาม  โดยเฉพาะอย่างยิ่งปราสาทภูเพ็ก กับปราสาทนครธม อยู่เส้นตรงเดียวกันในแนวเหนือใต้ เป็นความบังเอิญหรือผู้สร้างจงใจเช่นนั้นก็ไม่ทราบ  
นายสรรค์สนธิ   บุณโยทยาน ผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์และผู้เขียนหนังสือสุริยปฏิทินพันปี กล่าว ว่าปราสาทภูเพ็ก ไม่ได้เป็นเพียงแค่ศาสนสถานแบบธรรมดาดังตำนานดาวเพ็กตามที่เคยได้ยินมา แต่ที่นี่ยังมีอุปกรณ์ดาราศาสตร์ที่ยุคไฮเทค เรียกว่า สุริยปฏิทิน  ซึ่งสามารถบ่งชี้ตำแหน่งดวงอาทิตย์ในจักรราศีสำคัญได้อย่างแม่นยำ ไม่แพ้คอมพิวเตอร์ 
ตาม ข้อมูลของผู้รู้ที่ศึกษาความเป็นมาของพระธาตุภูเพ็กได้อธิบายว่า  การสร้าง พระธาตุภูเพ็กเริ่มต้นจากการเลือกสถานที่ก่อสร้าง  ปุโรหิตผู้รับผิดชอบ โครงการต้องมองหาภูเขาที่สูงที่สุด และมีรูปร่าง เหมือน     เขาพระสุเมรุ  มีการปรับแต่งพื้นดินบนยอดเขาให้ราบเรียบเพื่อให้ ตัวปราสาทตั้งอยู่ริมหน้าผาด้านทิศตะวันออกและทำมุมกวาด 90 องศา จากทิศเหนือ ตามความเชื่อเรื่องวันศักดิ์สิทธิ์ของปฏิทินมหาศักราช(Saka calendar)  ที่กำหนดให้ตรงกับวันวสันตวิษุวัต (Vernal equinox) คือวันที่กลางวันเท่ากับกลางคืน  ดวงอาทิตย์จะขึ้นที่ทิศตะวันออกแท้(Due east) แสงอาทิตย์ยามเช้าตรู่จะส่องตรงเข้าไปยังช่องประตูห้องวิมาน      เพื่อเป็นพลังในการประกอบพิธีของเจ้านายชั้นสูง 
จากการสำรวจอย่างละเอียดพบว่าหินทรายที่ใช้ก่อสร้างถูกนำมาจากหน้าผาด้านทิศตะวันตก  อยู่ห่างออกไปประมาณ 400 เมตร ปัจจุบันยังมีร่องรอยของการตัดหินทุกขั้นตอน เริ่มจากการทำเครื่องหมายตีเส้น    กำหนดรูปร่างบนแท่งหิน การเซาะร่องได้เพียงบางส่วน   หินที่ตัดเรียบเสร็จแล้วถูกทิ้งอยู่เรี่ยราดตามรายทาง  แสดงให้เห็นว่า การทิ้งงานแบบกะทันหัน  ขณะเดียวกันก็มีรอยขีดที่พื้นประตูด้านทิศตะวันออก และผนังด้านทิศตะวันตก บ่งชี้ตำแหน่งดวงอาทิตย์ในวันวิษุวัตซึ่งตามปฏิทินสากลปัจจุบันตรงกับวันที่  21 มีนาคม  (วสันตวิษุวัต : Vernal equinox)     และ 23 กันยายน (ศารทวิษุวัต : Autumnal  equinox)รอยขีดที่ประตู    ด้านทิศเหนือทิศใต้ และทิศตะวันตก บ่งชี้ตำแหน่งทางดาราศาสตร์ที่เรียกว่า ทิศภูมิศาสตร์ทั้งสี่(The four cardinals) 
หาก ท่านอยากเห็นความสอดผสานกันอย่างลงตัว  ระหว่างความอลังการทางธรรมชาติ กับ  ความคิดอันหลักแหลมของคนโบราณ  ผู้เขียนขอเชิญชวนทุกท่าน ลองไปต้อนรับเช้าวันใหม่บน พระธาตุภูเพ็ก ในวันวสันตวิษุวัต หรือ วันที่21 มีนาคมและวันศารทวิษุวัต หรือวันที่ 23 กันยายนของทุกปี 
ท่าน จะได้สัมผัสอรุณรุ่งมหัศจรรย์ด้วยตาตนเอง เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นตรงกลางช่องประตูห้องวิมาน  และตื่นตากับความงามของแสง แรกแห่งอรุโณทัยสีแดงเรื่อเรือง สาดส่องเหนือแท่งศิวลึงค์  ซึ่งตั้งอยู่หน้าประตู  เช่นเดียวกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในวันเดียวกันนี้ ณ ปราสาทนครวัด เมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา และอีกหลายปราสาท ทั้งปราสาทพนมบาเค็ง และปราสาทบายน  อันเป็นโบราณสถานขอมร่วม  อารยธรรมเดียวกัน   หากแต่ที่นี่ท่านจะได้บรรยากาศความงามแบบอีสานตอนบนไม่ซ้ำแห่งใด
ปราสาท ภูเพ็กจึงมิได้เป็นเพียงโบราณสถานที่ทรงคุณค่าทางสถาปัตยกรรม  อันบ่งบอก ความสามารถเชิงช่างแห่งภูมิปัญญาคนโบราณที่สร้างเท่านั้น  ภูเพ็กยังเป็น หลักฐานสำคัญ ซึ่งสื่อสะท้อนถึงความชาญฉลาดทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับความรู้ด้านดารา ศาสตร์  การคิดคำนวณ  ที่นำมาเชื่อมโยงเข้ากับความศรัทธาทางศาสนาและ ธรรมชาติได้อย่างน่าทึ่ง 
ที่สำคัญ หากมองลึกลงไปในข้อมูลทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่น  จะพบนัยยะที่แฝงเร้นอยู่ใน โบราณสถานแห่งนี้ คือ พระธาตุภูเพ็กนั้นเป็นหลักฐาน  ที่ชี้ให้คนรุ่นหลังได้เห็นถึงผลพวงของความ ขัดแย้งทางการเมืองภายในรัฐที่ปกครองชุมชนยุคนั้น ซึ่งเราควรนำกลับมาทบทวน เปรียบเทียบกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในบ้านเมืองเรา  เพื่อเป็นบทเรียน สอนใจว่าการช่วงชิงชัยชนะทางการเมืองนั้น ส่งผลร้ายแรงเพียงไรต่อประโยชน์ของผู้คนในชาติ  ไม่ใช่แต่เพียงผู้คนร่วมยุค สมัยเท่านั้น  หากบางปัญหาจะยังผลสืบเนื่องไปถึงกาลภายหน้าอีกยาวนาน  เช่น เดียวกับผลของความขัดแย้งทางการเมืองที่ทำให้พระธาตุภูเพ็กต้องยุติการสร้าง อย่างกะทันหัน  แม้เกิดขึ้นมากว่าพันปีแล้ว  แต่ก็ทำให้คนรุ่นหลังอย่างเรา พลาดโอกาส ตักตวงประโยชน์จากการต่อยอดความรู้ที่บรรพบุรุษสั่งสมมาอย่างน่าเสียดาย
ลอง จินตนาการดูเถิดว่า หากพระธาตุภูเพ็กสร้างเสร็จสมบูรณ์จะเป็นการดีเพียงไร อนุชนรุ่นหลังคงมี แหล่งศึกษาทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่น่าทึ่งให้ได้ค้นคว้า  อาจมีการสืบต่อ ภูมิปัญญา  ของคนโบราณในชุมชน   ถ่ายทอดให้ลูกหลานนำไปสร้างสรรค์ประโยชน์ ให้แก่สังคมได้มากมาย  ทั้งเรายังมีโบราณสถานทางศาสนาและประวัติศาสตร์  ที่ งดงามยิ่งใหญ่ให้เรียนรู้และภาคภูมิใจอีกหลายชั่วอายุคน เฉกเช่นชนชาติอื่น ในโลก  ที่บรรพชนของเขาทิ้งมรดกล้ำค่าไว้ให้ลูกหลานของเผ่าพันธุ์ได้เรียน รู้
กระนั้นก็ตาม  แม้ปราสาทโบราณแห่งนี้ไม่เสร็จสมบูรณ์  แต่ คุณค่าของ   พระธาตุภูเพ็กก็ยังมีมากมายรอคอยการค้นหาของเรา  ปริศนาอันเร้น อยู่ในความเก่าแก่ของพระธาตุบนยอดภูนี้  ยังมีเสน่ห์กระตุ้นความกระหายใคร่ รู้ของผู้สนใจ ท้าทายให้อยากมาถอดรหัสทางปัญญาที่ช่างพื้นเมืองโบราณซุกซ่อน ไว้  
ผู้เขียนภูมิใจเหลือเกินที่ครั้งหนึ่งในชีวิตได้มีโอกาส มาสัมผัสหลักฐานทางประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่  ของเทือกเขาภูพานแห่ง นี้  หลักฐานซึ่งรังสรรค์จากความปราดเปรื่องของวิศวกรโบราณ ผู้มีชีวิตห่างจากเรา   นับพันปี  ท่านเหล่านั้นฝากผลงานแห่งศาสนศรัทธาไว้ เป็นมรดกแก่ลูกหลานอย่างเรา   ทุกครั้งที่เห็นจะได้เตือนสติเราเวลาจะทำ อะไรๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อคนหมู่มากในสังคม  ให้ฉุกคิดสักนิดก่อนทำเสมอว่า  อีกนับ ร้อยนับพันปีมันจะยังผลใดบ้างให้แก่ลูกหลานในอนาคต
เสียงแคน เสียงพิณลายผู้ไทหรือภูไท  ดังแว่วหวานมากับหมอกเหมยยามย่ำรุ่ง  หอมข้าว เหนียวนึ่ง    ใหม่ ๆ กรุ่นกลิ่นโชยมา หวานน้ำใจของคนที่นี่  แม้มีหลากหลายชาติพันธุ์  หากเขาเหล่านี้กลับอยู่ ร่วมกันได้อย่างสงบร่มย็น    เป็นเช้าที่เราจะได้ดื่มด่ำทั้งความงามของ ธรรมชาติ  ความงามของปัญญามนุษย์  และ คติชีวิตที่ผนึกรวมกันในพระธาตุแห่ง นี้  เป็นคุรุอรุโณทัยหรืออรุณรุ่งแห่งผู้สอนชีวิตโดยแท้
ทุก ครั้งที่คิดถึงภูพาน  คงอดไม่ได้ที่จะต้องเห็นภาพภูเพ็ก  เขียวชอุ่มฉ่ำชื่น ในวันคืนฝนพรำผุดขึ้นในห้วงคำนึง  เพชรยอดภูที่ยังเจียระไนไม่เสร็จเม็ด นี้  ยังมีความงามอีกหลายแง่มุม ส่องประกายเย้ายวนชวนเชิญ  ผู้คนให้มาเยือนเสมอ  

..........ภาษาออกกึ่งทางการหน่อย...เพราะเขียนส่งวารสาร....แหะ ๆ..ดองไว้นาน..

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น