9/22/2559

ข้ามโขงสายใย...สะหวันเขต ประเทศลาว

.......วูบหนึ่งระหว่างเดินทาง
คำพูดเก่าๆ เรื่อง "สวรรค์ในอก" กับ "นรกในใจ" ได้ผุดขึ้นมาเงียบๆ
ใครบางคนที่คุ้นเคย เคยบอกว่า มันก็แค่เส้นแบ่งบางๆ ที่เราเลือกเองได้ว่า จะให้เป็นอย่างไร
ไม่รู้สิ อาจบางที คำตอบคงไม่ได้อยู่ที่ใครอื่น แต่อยู่ที่ใจของเราแต่ละคน..
นี่เป็นอีกครั้ง ที่เราข้าม "สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2" ที่เชื่อมต่อระหว่าง "มุกดาหาร" เมืองที่ มีตำนานดวงแก้วสดใส เหนือตาล 7 ยอดริมน้ำโขง กับแขวง "สะหวันนะเขต" แห่ง "สปป.ลาว" เป็น "สะหวันนะเขต" ที่เปลี่ยนชื่อใหม่ จาก "สุวันนะพูมประเทศ" ตามที่ "ฝรั่งเศส" ตั้งให้ ในช่วงเข้ามาเป็นเจ้าอาณานิคม ขณะที่ชื่อทางการคือ "เมืองคันทะบุรี"
เรา มา "สะหวันนะเขต" เพราะที่นี่ มี "พระธาตุอิงฮัง" ที่ได้ชื่อว่า พระธาตุคู่แฝดกับ "พระธาตุพนม" เป็น "พระธาตุอิงฮัง" ที่ผสมผสานศิลปะต่างยุคอย่างกลมกลืน พร้อมกับ "วิจิตรกามา" อันเลื่องชื่อ กระทั่งผู้คนอดสงสัยไม่ได้ว่า เหตุใด "พุทธสถาน" สำคัญ จึงมีภาพ "เชิงสังวาส" ปรากฏอยู่ด้วย? คณะเราข้ามแดนจากฝั่งไทย มา สปป.ลาว ด้วยการทำ "ใบผ่านแดน"ณ จุดบริการและรถตู้บริการของ "สะหวันเวกัส" กาสิโนชื่อดังฝั่งลาว โดยการประสานงานของ "พี่น้อย" พี่สาวใจดีคนเดิม
เราถูกแบ่งออกเป็น 2 ชุด ชุดแรกเดินทางก่อนโดยรถตู้ ที่มีการจัดการทำเรื่องผ่านแดนให้ทั้งหมด
ขณะที่ชุดหลัง ซึ่งนำทีมโดย "พี่น้อย" ต้องมากับรถบัส เพราะผู้คนที่แห่ข้ามฝั่งอย่างล้มหลาม ต้อง "ต่อคิว"ทำเรื่อง โดยใช้เวลาไม่ใช่น้อย จนกลายเป็นอีกหนึ่งตำนาน ที่จนถึงวันนี้ ก็ยังมีเสียงแซวไม่ขาดสาย
แต่นั่นไม่ได้ทำให้การเดินทางเสียรส หากแต่กลับเติมเต็มประสบการณ์ และความทรงจำที่ประทับใจยิ่ง
เรารอสมทบกันที่ "สะหวันเวกัส"หรือ "วัดช้างใหญ่" ที่ ตม. ตั้งชื่อให้ จากรูปปั้นช้างด้านหน้าอาคาร
คน ไทยคนหนึ่งยิ้มให้ แล้วชักชวนให้เข้าไป "ทำบุญ" พร้อมกับ "เสี่ยงโชค" ด้วยกัน ที่นี่ สมชื่อ "วัดช้างใหญ่" จริงๆ เพราะคับคั่งด้วยผู้คนต่างเพศต่างวัย จากฝั่งไทย ที่มุ่งมั่นมา "ทำบุญ" ท่ามกลางแสงสียั่วตา ชนิดไม่รู้วันรู้คืน ใน "วัดช้างใหญ่" กับสโลแกน "สวรรค์บนดิน ที่คุณสัมผัสได้"
ไม่ นานนัก ทั้งคณะก็ได้สมทบกัน แล้วเราก็เดินทางต่อโดยรถตู้ ที่ "คุณต่าย" แห่ง "สะหวันเวกัส" จัดการไว้ให้ พร้อมกับที่พักในคืนนี้ที่มีชื่อว่า "สุลินสุก" โรงแรมเล็กๆ แต่ดูดี ในย่านตัวเมือง "สะหวันนะเขต" จุดหมายคือ "พระธาตุอิงฮัง" ที่ห่างจากตัวเมืองตามทางหลวงหมายเลข 13 ประมาณ 13 กม.
แดดที่ร้อนระอุ ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อความศรัทธา และความตั้งใจ
ระหว่าง รายทาง เราแวะซื้อ "ขันหมากเบ็ง" ดอกไม้และดอกบัวพร้อมธูปเทียน เพื่อไปบูชาพระธาตุ ไม่นานนัก "พะทาดอิงฮัง" หรือ "พะทาดอิงรัง" ศูนย์รวมความศรัทธาของคนลาว ก็ปรากฏให้เห็นอยู่ตรงหน้าแดดสีทองทอแสงจับองค์พระธาตุ งามด้วยสถาปัตยกรรมผสมผสานอย่างจับใจ"พระธาตุอิงฮัง" พระธาตุทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมเหมือนหอปราสาท ฐานกว้าง 9 ม. สูง 25 ม.ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนกระดูกสันหลัง สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพุทธศตวรรษที่ 10-11 องค์พระธาตุมี 3 ฐาน ฐานล่าง-กาลภพ-มนุษย์ ฐานกลาง-รูปภพ-เทวโลก ฐานบน-อรูปภพ-พรหมโลกนี่เป็นความเชื่อแบบไตรภูมิแห่งชีวิต โดยฐานล่างและฐานกลาง เป็นศิลปะดั้งเดิม ส่วนฐานบนและยอดเจดีย์ เป็นศิลปะสมัยล้านช้าง
แล้ว ตำนาน "อุรังคนิทาน" หรือ "อุรังคธาตุ" เรื่องเล่าตำนาน "พระธาตุพนม" ก็ผุดภาพซ้อนขึ้น จากรูปทรงและแบบอย่างของ "พระธาตุพนม" ที่เล่าสืบกันมาว่า พระยาทั้ง 5 เมือง ในดินแดนลุ่มน้ำโขง ร่วมกันสร้างขึ้น พร้อมกับเชื่อมความสัมพันธ์ของดินแดน
ต่อยอด ถึง "พุทธสถาน" หลายแห่ง จนเป็นเอกลักษณ์ของงาน "สถาปัตยกรรมแถบลุ่มแม่น้ำโขง" ตำนาน "อุรังคธาตุ" เล่าว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาเมืองล้านช้าง ได้ประทับยืนใต้ต้นรังทอดพระเนตรภูกำพร้ากลางแม่น้ำโขง แล้วทรงพยากรณ์ว่า พระพุทธศาสนาจะเจริญรุ่งเรืองในดินแดนแถบนี้
ต่อมาจึงมีการสร้าง "พระธาตุอิงฮัง" และ "พระธาตุพนม"เป็นพระธาตุคู่แฝด
"พระธาตุอิงฮัง" สร้างขึ้นในสมัยอาณาจักร "ศรีโคตรบูร"หรือ "ศรีโคดตะบอง" เรืองอำนาจ โดย "พระเจ้าสุมินทราช"ราชาธิราชแห่งอาณาจักรศรีโคดตะบอง
กระทั่ง "เขมรโบราณ" แผ่อำนาจเข้ามาครอบครองดินแดนนี้ ราวพุทธศตวรรษที่ 14 "พระธาตุอิงฮัง" จึงถูกดัดแปลงเป็น "เทวสถาน" ใน "ศาสนาฮินดู" และมีการสร้างต่อเติมขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง
องค์พระธาตุจึงมีลักษณะเป็นทรงปราสาทหรือทรงปรางค์ แล้วเรียกว่า "อินทรปราสาท" จากนั้น ก็มีการประดับลายตกแต่งซุ้มและบานประตู ให้มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับเทพเจ้า และนี่ก็เป็น "ที่มา" ของ "ภาพแกะสลักแนววิจิตรกามา" ของ "ฮินดู" บนบานประตูทางเข้าทั้ง 4 ด้าน บานประตูไม้สูง 2.03 ม. กว้าง 1.60 ม. ในช่องเล็กๆ ข้างละ 4 ช่อง แกะสลักเป็นภาพ "เชิงสังวาส" นี่เป็นที่มาของ "พุทธสถาน" ที่ห้วงเวลาหนึ่งกลายเป็น "เทวสถาน" ก่อนจะกลับมาเป็น "พุทธสถาน" อีกครั้ง โดยมีภาพ "วิจิตรกามา" ซึ่งไม่พบเห็นใน "พุทธสถาน" แห่งใด มีคำอธิบายว่า ภาพ "เชิงสังวาส" นี้ คล้ายภาพ "กามสูตร" ของอินเดีย
ที่ ทำให้นึกถึง "ภาพศิลา" ของอินเดียรอบโบสถ์ "กาลเทวี"และ "วิศวนาถ" ที่ "ขะชูราโห" (Khajurho) ซึ่งเป็นภาพลีลาพิศวาสอันงดงาม จาก "กามสูตร" ในพุทธศตวรรษที่ 16  ผ่านอิทธิพลสืบเนื่องใน "ศิลปะตันตระ" (Tantric Art) จาก "ลัทธิตันตระ" หรือ "พุทธตันตระ" ที่เกิดขึ้นในอินเดีย ราว พ.ศ.1100 และเจริญรุ่งเรืองในสมัย "ปาละ-เสนะ" (Pala-Sena) ราว พ.ศ.1293-1750
เสียดายที่เป็นแค่บานประตูจำลอง ทำขึ้นในปี พ.ศ.2495 โดยบานจริงถูกนำไปเก็บไว้ที่ "หอพระแก้ว" แต่นี่ก็เป็นความงดงามจากแง่มุมประวัติศาสตร์ ซึ่งไม่ได้ลดทอนคุณค่า และความศรัทธาแต่อย่างใด
เราได้ชื่นชมความงดงามอย่างอิ่มเอม ไม่เฉพาะ "พระธาตุอิงฮัง" หากแต่บริเวณโดยรอบ โดยเฉพาะ "ระเบียงคด" ก็ยังมีพระปางเงินจำนวน 160 องค์ ที่เป็นฝีมือการหล่อของ
ช่างไทยกับช่างลาว
ศรัทธานั้นยิ่งใหญ่ และความตั้งใจอย่างแน่วแน่ ก็ไม่มีอะไรทำลายลงได้จริงๆ
เราอำลาอย่างอาลัย ก่อนจะเดินทางกลับด้วยรถตู้คันเดิม ระหว่างรายทางกลับสู่ที่พัก เราได้แวะ "ODOP" ที่คล้ายกับ "OTOP" บ้านเรา พร้อมกับแวะจิบกาแฟลาวหอมกรุ่น ที่ "ดาวเฮือง"
มี "เซอร์ไพรส์" เล็กๆ คนขับรถตู้ถูกตำรวจลาวเรียกให้จอด เพราะไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน และก็ตามระเบียบกับการ
จ่ายค่าปรับแบบไม่ต้องมีใบเสร็จ จำนวน 80 บาทเป็นเงินไทย เพราะต่อรองแล้ว 40 บาทไม่ได้
จาก นั้นเมื่อแดดร่มลมตก คณะเราก็เลือกกินแบบชิลๆ กับบรรยากาศริมโขง ที่ร้าน "สวรรค์ลาวเดิม" แม้ว่าราคาอาหารจะสูงพอสมควร แต่ทัศนียภาพริมน้ำยามพระอาทิตย์ตก ก็ทดแทนกันได้เป็นอย่างดี
แล้วเราก็ยังได้สนทนาอย่างออกรส กับ "คุณต่าย" ที่ตามมาสมทบ ก่อนจะได้เวลาอำลาจากกันในคืนนี
ฝันดีนะ "สะหวันนะเขต" ขอบคุณคำตอบว่าด้วยสวรรค์ ที่ก็แค่เส้นแบ่งบางๆ ในใจเราเอง...
บรรยายใต้ภาพ
"พระธาตุอิงฮัง" พระธาตุคู่แฝด "พระธาตุพนม"
"ระเบียงคด" เรียงรายด้วยพระพุทธรูป
"วิจิตรกามา" บนบานประตู
โรงแรมสุลินสุก กลางเมืองสะหวันนะเขต
"สะหวันเวกัส" กาสิโนชื่อดัง
สะพานมิตรภาพฯ ริมโขงฝั่งลาว
สาวน้อยรอขาย "ขันหมากเบ็ง"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น